การบริการทางด้านการศึกษาไทยเตรียมพร้อมอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ไทยกำลังนับถอยหลังเข้าสู่การเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” คำถามที่ทุกฝ่ายต่างสงสัย คือ เรา “พร้อม” แค่ไหนสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) เป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน (ASEAN) อันประกอบไปด้วย “ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน” “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” และ “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยมีการเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี

แน่นอนว่า การเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นประเด็นเร่งด่วนที่สุด ณ วินาทีนี้ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากอีกประการซึ่งพวกเรายังคงต้องตั้งคำถามถึงก็คือเรื่องของ “การศึกษา

คน-การศึกษา หัวใจของเสาหลักทั้งสาม
มนุษย์ คือ ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของทุกเสาหลัก ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมี “การศึกษา” เป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ทั้งนี้ ตัวแปรหลักในกระบวนการการศึกษาที่ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนและให้ความสำคัญมากขึ้น ก็คือ การพัฒนา “ครู” และ “หลักสูตร” รวมทั้งการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษของประชาชนคนไทย

“นักการศึกษาต้องทบทวนหลักสูตรโดยเล็งเห็นถึงความต้องการของประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ผ่านมาเราเน้นแต่การสอน นับจากนี้เราต้องสอนให้น้อยลง แต่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มากขึ้น คนไทยมีทัศนคติว่า “เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร” “ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่” เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ผู้นำเราไม่เน้นความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษเลย ในทางตรงกันข้าม ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ เขามีอดีตผู้นำอย่างนาย ลี กวน ยู ที่มีวิสัยทัศน์ว่า ภาษาอังกฤษและภาษาจีนจะมีความสำคัญมาก ดังนั้น เขาจึงให้ข้าราชการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีน มีการพิมพ์หนังสือและขายเทปเรียนภาษาราคาถูก สิงคโปร์ตั้งเป้ากันยาวเป็น 20-30 ปี ซึ่งในที่สุดเขาก็ทำได้สำเร็จ”

“ดังนั้น ไม่ว่าคนไทยจะเรียนทันหรือไม่ คำตอบคือ “ต้องทัน” และไม่ใช่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาเพื่อนบ้านอย่างภาษาเวียดนาม ลาว พม่า มาเลเซีย เราก็ควรต้องเรียนกันอย่างจริงจัง นอกจากนั้น อาเซียนต้องมีการแลกเปลี่ยนผู้ทรงคุณวุฒิกันภายในภูมิภาค จากเดิมที่มีแต่ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น พอถึงยุค AEC เราต้องแลกเปลี่ยนกันเองภายในภูมิภาคเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจระหว่างกันด้วย”

“ต้องยอมรับว่า ประชาชนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทยังอ่อนแอในการร่วมขบวนและการปรับตัวสู่ AEC ดังนั้น เราต้องพัฒนาโอกาสทางการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เพราะมิฉะนั้นจะเกิดช่องว่างทางการศึกษา และกลายเป็นช่องว่างทางเศรษฐกิจไปในที่สุด”\